มองกับกาเชื่อมโยงข้อมูล

2 ส.ค. 2548

โดย อ.ทสพล เขตเจนการ

ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล  คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

 

                ก่อนอื่นต้องขอบอกไว้ก่อนว่า ข้อเขียนนี้ไม่ใช่ข้อเขียนทางวิชาการ เพราะท่านคงไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงต่อที่ไหนได้ เนื่องจากผมเขียนขึ้นมาเองจากการที่ได้อ่านได้ฟังมาบ้างพอสมควร แต่ก็จำไม่ได้เสียแล้วว่าไปได้อ่านได้ฟังมาจากไหนบ้าง ศัพท์แสงทางชีววิทยาก็เรียกไม่ถูกเพราะไม่ได้เรียนมาทางนี้ เพราะฉะนั้น ก็ถือว่ามาเล่าสู่กันฟังอย่างกว้างๆ ก็แล้วกัน เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับใครได้บ้า

                ผมอยากจะพูดถึงการทำงานของสมองของมนุษย์เราที่ทำงานในลักษณะของการเชื่อมโยงข้อมูล เพราะผมรู้สึกว่า ถ้าหากเราพอจะรู้จักธรรมชาติของการทำงานของสมองบ้างแล้ว ก็จะช่วยให้เราสามารถมองหาหนทางที่จะพัฒนาประสิทธิภาพของสมองหรือใช้งานสมองของเราได้ถูกทางมากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตของเราบ้างไม่มากก็น้อย

                ถึงแม้ว่ามนุษย์เองยังไม่สามารถล่วงรู้ความลับของการทำงานของสมองได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่ได้สรุปและพิสูจน์กันมาพอสมควรก็คือ สมองมนุษย์ทำงานในลักษณะของการเชื่อมโยงข้อมูล การรับรู้ข้อมูลใหม่เข้ามาในสมองนั้น จะต้องอาศัยการเชื่อมโยงกับข้อมูลเก่าที่คล้ายคลึงกัน หรืออยู่ในสภาพที่พร้อมที่จะเชื่อมต่อกับข้อมูลใหม่ที่กำลังจะเข้ามานั้นได้

                ตัวอย่างเช่น เราอาจจะกำลังดูข่าวการขับรถไล่ล่ากันระหว่างตำรวจกับผู้ร้ายบนทางหลวงในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้ประกาศข่าวอาจจะบอกว่าทั้งคู่กำลังขับรถไล่กันด้วยความเร็วถึงกว่า 100 ไมล์ต่อชั่วโมง เราเองซึ่งเป็นคนไทยที่คุ้นเคยกับรถซึ่งวัดความเร็วในหน่วยกิโลเมตรต่อชั่วโมงก็อาจจะนึกภาพไม่ออกว่าความเร็ว 100 ไมล์ต่อชั่วโมงนั้นเร็วมากแค่ไหน แต่ถ้าผู้ประกาศข่าวบอกต่อไปว่า ความเร็ว 100 ไมล์ต่อชั่วโมงก็เทียบเท่ากับประมาณ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างนี้ เราก็จะนึกภาพได้ชัดเจนขึ้นมาทันทีว่าเร็วมาก เนื่องจากข้อมูลใหม่ที่เข้ามานั้นสามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลเก่าหรือประสบการณ์เก่าที่เรามีอยู่ได้

                อีกตัวอย่างหนึ่งก็เช่น คำแนะนำที่ว่า เราควรอ่านหนังสือเรียนทุกวัน โดยอ่านทบทวนสิ่งที่เรียนมาในแต่ละวันในตอนเย็น รวมทั้งอ่านล่วงหน้าในวิชาที่จะเรียนในวันถัดไป การอ่านหนังสือทุกวันเป็นการเตรียมฐานข้อมูลในสมองให้แน่นและพร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาในการเรียนครั้งต่อไป หากเราไม่อ่านหนังสือทุกวัน ประสิทธิภาพการเรียนรู้ก็จะแย่หรือไม่ดีเท่าที่ควร ลองสังเกตเวลาที่เราขาดเรียนวิชาใดวิชาหนึ่งไปสักครั้งสองครั้ง เมื่อเข้าไปเรียนใหม่ก็จะรู้สึกว่าไม่เข้าใจ รับความรู้ใหม่เข้ามาไม่ได้ทั้งหมด ทั้งนี้ก็เป็นเพราะฐานข้อมูลเก่าที่มีอยู่มีความแตกต่างจากข้อมูลใหม่ที่กำลังเข้ามามากเกินไป หรือกล่าวได้ว่าไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมที่จะรับข้อมูลใหม่เข้ามานั่นเอง ดังนั้น ผู้ที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ก็ควรที่จะฝึกการอ่านหนังสือทุกวันให้เป็นนิสัย เพราะเมื่อได้รู้ธรรมชาติของการทำงานของสมองแล้วว่าเป็นอย่างไร ก็ควรจะรู้จักปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติของสมองด้วย

                เราอาจจะนึกภาพต่อไปได้อีกว่า ยิ่งถ้ามีฐานข้อมูลในสมองกว้างมากเท่าไร ก็คงจะสามารถรับรู้ข้อมูลใหม่ได้กว้างมากยิ่งขึ้น หลายหลายยิ่งขึ้น รวดเร็วยิ่งขึ้น และเข้าใจได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเท่านั้น ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งว่าทำไมเราจึงต้องเรียนวิชาที่มีเนื้อหาหลากหลายและออกไปในทางกว้างมากกว่าทางลึกในสมัยเด็กๆ และเราก็มักจะบ่นกับตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่าทำไมจึงต้องเรียนวิชานั้นวิชานี้ ทั้งๆ ที่เมื่อโตขึ้นมาก็ไม่ได้ใช้วิชาเหล่านั้นในการทำมาหากินเลย เหตุผลที่ชัดเจนที่สุดก็คือ เด็กทุกคนยังไม่มีความรู้ในเรื่องอะไรทั้งสิ้น เปรียบเสมือนว่าในสมองมีพื้นที่อยู่จำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีข้อมูลอะไรบรรจุอยู่เลย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เกิดฐานข้อมูลที่กว้างและพร้อมที่จะรับความรู้ที่ละเอียดซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเติบโตขึ้นไป

                ในสมัยประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เราอาจจะต้องเรียนทั้งพีชคณิต เรขาคณิต ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา สุขศึกษา พลศึกษา ศาสนา ศิลปะ ดนตรี หรือแม้กระทั่งวิชาแนะแนว และอื่นๆ อีกมากมาย คนที่เลือกที่จะเรียนต่อไปในสายวิศวกรรมศาสตร์ ก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ในด้านชีววิทยา พลศึกษา ศาสนา และดนตรี ในวิชาชีพของตน ในขณะที่คนที่เรียนต่อในด้านอักษรศาสตร์ ก็อาจไม่ต้องใช้ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ในการประกอบอาชีพเลยก็เป็นได้ แต่การเรียนรู้วิชาการที่หลากหลายและกว้างขวางในสมัยเด็กนั้น ถือเป็นการเปิดพื้นที่ของฐานข้อมูลในสมองให้กว้างและครอบคลุมให้มากที่สุด ลองคิดดูง่ายๆ ว่า ถ้าเราไม่ได้เรียนหลากหลายวิชาอย่างที่ผ่านมา เราจะรู้ได้อย่างไรว่าชอบวิชาใด ไม่ชอบวิชาใด หรือมีวิชาใดที่ถนัดกว่าวิชาอื่น หรือถ้าหากไม่มีวิชาแนะแนว เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีอาชีพอะไรบ้างในสังคมที่จะต้องออกไปใช้ชีวิตอยู่หลังเรียนจบ แล้วอาชีพใดที่เราอยากทำ และเราควรจะเลือกเรียนในสาขาใดเพื่อให้สามารถออกไปประกอบอาชีพที่อยากทำนั้นได้

                ต่อมา หากต้องการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไปอีก เป็นต้นว่า เรียนต่อขึ้นไปในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก การเรียนก็จะเป็นไปในทางลึกมากกว่าทางกว้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยังคงต้องอาศัยการเชื่อมโยงข้อมูลที่สัมพันธ์กันอยู่ดี หากลองพิจารณาในทางลึก การจะเรียนต่อทางวิศวกรรมเครื่องกลในระดับปริญญาตรี ก็ควรจะต้องเรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์ในสมัยมัธยม เพื่อที่จะให้มีฐานข้อมูลในสมองที่สัมพันธ์กับความรู้ในสาขาวิศวกรรมเครื่องกลที่เลือก หากจะเรียนต่อทางด้านการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรมในระดับปริญญาโทและเอก ก็ควรจะต้องเรียนมาทางสายวิศวกรรมเครื่องกลในระดับปริญญาตรี เพื่อให้ฐานข้อมูลในสมองอยู่ในสภาพที่พร้อมที่จะรับความรู้ใหม่ได้ เมื่อลองพิจารณาในทางกว้าง ในการศึกษาเรื่องหุ่นยนต์ที่ว่า เราก็อาจจะต้องขยายฐานสมองเพิ่มเติมไปให้ครอบคลุมความรู้ทางด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย นอกจากนี้ ฐานข้อมูลทางด้านภาษาที่คนที่เรียนสายวิทย์ส่วนใหญ่มักไม่ให้ความสำคัญก็จะมีบทบาทสำคัญในการเรียนทุกระดับที่กล่าวมานั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ถ้าฐานความรู้ภาษาไทยไม่ดีพอ การเขียนรายงานหรือการอธิบายคำตอบในข้อสอบก็จะทำได้ไม่ชัดเจน อาจทำให้เสียคะแนนไปได้ ถ้าฐานความรู้ภาษาอังกฤษไม่ดีพอ ก็จะอ่านตำรับตำราภาษาอังกฤษซึ่งเป็นต้นแบบวิชาไม่ได้ ค้นคว้าข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตก็ไม่ถนัด และอาจส่งผลต่อไปจนถึงช่วงทำงานที่อาจจะต้องมีการติดต่อประสานงานกับต่างประเทศด้วยก็ได้

                นอกจากการเรียนแล้ว การมีฐานข้อมูลในสมองที่กว้างและหลากหลายยังมีประโยชน์ในชีวิตการทำงานอีกด้วย หลายคนคงมีเพื่อนหรือคนรู้จักที่เป็นคนคุยสนุก ดูฉลาดรอบรู้ คุยเรื่องอะไรด้วยก็ได้เพราะดูเหมือนว่าเขาสามารถจะคุยกับเราได้ทุกเรื่อง และดูเหมือนว่าเขาจะรู้เรื่องเหล่านั้นจริงเสียด้วย ไม่ใช่เพียงแค่คุยเออออไปกับเราเท่านั้น หากลองศึกษาคนเหล่านั้นดู ก็จะพบว่าเขาเหล่านั้นมักจะเป็นนักอ่านหรือนักฟังที่สนใจในเรื่องราวที่หลากหลาย จึงทำให้มีฐานข้อมูลที่กว้าง มีวัตถุดิบในการคิดการคุยมาก นอกจากนี้แล้ว คนเหล่านั้นมักจะมีมุมมองในสิ่งต่างๆ ที่กว้างขวางและหลากหลายกว่าคนอื่นอีกด้วย คนที่มีลักษณะแบบที่ว่านี้ เพื่อนร่วมงานก็อยากจะคุยอยากจะทำงานด้วย ทั้งลูกน้องทั้งเจ้านายก็รักใคร่ ทั้งในแง่ของอัธยาศัยและความรู้ความสามารถที่มีอยู่รอบตัว อย่างนี้ ความก้าวหน้าในชีวิตการทำงานก็อยู่ไม่ไกล ยิ่งถ้าทำงานก้าวหน้าต่อไปจนถึงระดับบริหารด้วยแล้ว การมีฐานความรู้ที่กว้างขวางหลากหลายก็ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้น เพราะต้องรู้จักเชื่อมโยงงานในทุกๆ ด้านเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการผลิต การตลาด การบัญชี การบุคคล การหาเส้นสายความสัมพันธ์ในวงสังคม อย่างนี้เป็นต้น

                การเปิดพื้นที่ของสมองให้กว้างนั้นสามารถทำได้หลายอย่าง การอ่านหนังสือหลากหลายประเภทก็ช่วยได้ การติดตามข้อมูลข่าวสารรอบตัวเป็นประจำก็ช่วยได้ การทำกิจกรรมที่หลากหลายในชีวิตก็ช่วยได้ เช่น การเล่นกีฬา การดูสารคดี การดูหนังหลากหลายแนว การซ่อมรถเอง การหัดเล่นดนตรี การเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ รวมความง่ายๆ ก็คือ ต้องเป็นนักอ่านนักฟังที่ดี และเป็นผู้ที่ใฝ่รู้และแสวงหาสิ่งใหม่ๆ ให้ชีวิตอยู่เสมอ

                การเข้าใจว่าสมองทำงานด้วยการเชื่อมโยงข้อมูล ยังช่วยให้เรามีความจำดีขึ้นได้ด้วย ผมเคยได้ดูรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งที่เกี่ยวกับสถิติโลกด้านความจำของกินเนสบุ๊คออฟเวิร์ลด์เร็คคอร์ด คนที่เป็นเจ้าของสถิติโลกด้านการจำเร็ว ผมจำสถิติที่แน่นอนไม่ได้ แต่สิ่งที่เขาทำให้ดูในรายการก็จะคล้ายๆ อย่างนี้ คือ เขาจะสามารถจำของ 30 ชิ้นที่ผ่านตาเขาภายในเวลา 1 นาทีได้อย่างถูกต้องตามลำดับ โดยรายการจะให้ของทั้ง 30 ชิ้นวิ่งมาตามสายพานด้านหน้า หลังจากนั้นพิธีกรก็จะถามว่าของชิ้นที่เท่านั้นเท่านี้คืออะไร ซึ่งแน่นอนว่าเจ้าของสถิติการจำเร็วนั้นสามารถตอบได้ถูกต้อง พิธีกรได้ถามเขาว่าเขามีเคล็ดลับอะไรในการจำให้ได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องตามลำดับด้วย เขาตอบว่าเขาจะผูกเรื่องราวขึ้นมาเชื่อมโยงระหว่างสิ่งของแต่ละชิ้นให้ได้ เมื่อถามถึงของชิ้นไหน เขาก็จะนึกย้อนไปถึงเรื่องที่แต่งขึ้นมานั้นแล้วก็ตอบ เราเองก็อาจจะนำแนวทางเดียวกันนี้ไปช่วยในการพัฒนาความจำให้ดีขึ้นได้ ถ้าใครเคยฟังเพลงกรุงเทพมหานคร ของอัสนี-วสันต์ โชติกุล ก็จะเห็นตัวอย่างของการผูกเอาชื่อของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงที่มีชื่อยาวที่สุดในโลกเข้ากับทำนองดนตรี คนที่ร้องได้หรือฟังเพลงนี้บ่อยๆ ก็จะพลอยจำชื่อเต็มของกรุงเทพฯ ได้ด้วย อีกตัวอย่างหนึ่งคงต้องเป็นคนที่เกิดทันหนังเรื่องวัยระเริง ก็จะมีเพลงยุโรป ที่วงบัตเตอร์ฟลายร้องไว้ เพลงนี้ก็จะผูกเอาสาระด้านภูมิศาสตร์และสังคมของทวีปยุโรปเข้าไว้ให้เป็นเรื่องเป็นราวแล้วร้องเป็นเพลง คนที่ร้องเพลงนี้ได้ก็จะจำข้อมูลของทวีปยุโรปเอาไปใช้สอบได้

                มีเกมง่ายๆ ที่สามารถเล่นเพื่อฝึกพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลของสมองได้ รวมทั้งได้ความเพลิดเพลินและท้าทายไปด้วยในตัว บางคนอาจจะเคยเล่นมาแล้ว เกมนี้เริ่มต้นโดยให้ลองเลือกสิ่งของสองสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกันเลยขึ้นมา แล้วพยายามโยงเข้าหากันให้ได้ เช่น ให้โยง ธงไชย แมคอินไตย เข้าหา ขรรชัย บุนปาน ให้ได้ ผมก็อาจจะเริ่มนึกถึงอัลบั้มชุดแรกของพี่เบิร์ด คือ ชุด หาดทราย สายลม สองเรา หรือบางคนอาจจะคุ้นกับชื่อชุด สบาย สบาย มากกว่า อัลบั้มชุดนี้ออกมาในปี พ.ศ. 2529 ปีเดียวกับที่วงเฉลียงออกอัลบั้มชุด อื่นๆ อีกมากมาย ผู้ที่แต่งเพลงให้กับวงเฉลียงส่วนใหญ่ก็จะเป็น คุณประภาส ชลศรานนท์ ซึ่งขณะนี้มีงานเขียนคอลัมน์ประจำอยู่ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอาทิตย์ หน้า 14 ชื่อคอลัมน์ คุยกับประภาส ซึ่งผู้ที่เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งและเป็นประธานกลุ่มผู้บริหารหนังสือพิมพ์มติชนอยู่ในปัจจุบันก็คือ คุณขรรชัย บุนปาน นั่นเอง พอจะเห็นภาพการเชื่อมโยงของข้อมูลไหมครับ