ระบบการเรียนรู้แบบ Constructionism

1 .ค. 2549

โดย อ.ทสพล เขตเจนการ

ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล  คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

 

                ผมเพิ่งได้อ่านหนังสือรายงานทางวิชาการซึ่งเขียนโดย อ.สุชิน เพ็ชรักษ์ ในนามของ สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2544 ชื่อหนังสือว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญาในประเทศไทย (Constructionism in Thailand) (ISBN 974-041-223-5) เนื้อหาของหนังสือนั้นเกี่ยวกับระบบการเรียนรู้ของคนเราในแบบที่เรียกว่า Constructionism ซึ่งเข้าใจว่าอาจารย์ท่านแปลเป็นไทยว่า ระบบการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา แต่ผมขออนุญาตเรียกทับศัพท์ว่า Constructionism เพื่อความกระชับ และโดยส่วนตัวแล้ว ผมว่าความหมายของคำภาษาอังกฤษนั้นค่อนข้างชัดเจนและตรงกับลักษณะของวิธีการเรียนรู้แบบนี้มากกว่า

                แม้ว่าหนังสือจะหนาถึง 400 กว่าหน้า แต่ด้วยความน่าสนใจของเนื้อหาแล้ว ผมไม่เกิดความรู้สึกเบื่อแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับรู้สึกตื่นเต้นในแนวคิดของ Constructionism เสียด้วยซ้ำ

                แนวทางการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า Constructionism นี้ เกิดจาก Professor Seymour Papert แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเสทส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือที่เราคุ้นเคยกับชื่อ MIT มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกานั่นเอง

                ระบบการเรียนรู้แบบที่ว่า ถือเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองแบบหนึ่ง หรือจะถือว่าเป็นการเรียนรู้แบบที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางก็น่าจะได้ ซึ่งในเมืองไทยก็คุ้นเคยในชื่อทับศัพท์ว่า Learner-Centered Education หรือ Child-Centered Education

 

                ลักษณะสำคัญของการเรียนรู้แบบ Constructionism ที่ผมอ่านแล้วสรุปได้มีดังนี้

                โครงการที่ผู้เรียนได้ลงมือศึกษาและกระทำนั้นจะต้องบรรลุผลสำเร็จ หรือหากจะหยุด ก็ต้องแน่ใจว่าได้ทุ่มเทจนถึงที่สุดแล้ว

                สิ่งที่ Constructionism เน้นก็คือ ครูก็เป็นผู้เรียนรู้คนหนึ่งด้วย ในการดูแลผู้เรียน ครูควรจะแสดงให้เห็นว่า ครูเองก็กำลังเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับผู้เรียนอยู่ ครูเองก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง แต่ครูสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของการเรียนรู้ได้ ครูจะต้องไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่มี ตรงกันข้าม ครูจะพยายามหาข้อมูลหรือคิดแก้ปัญหาอย่างเต็มความสามารถ แนวคิด Constructionism เองยังแนะนำไปถึงว่า ให้ครูมีโครงการเป็นของตัวเอง แล้วก็ทำไปพร้อมๆ กับผู้เรียนด้วยเสียเลย

 

                จากลักษณะเด่นที่กล่าวมาข้างต้น ผมคิดว่า Constructionism น่าจะเป็นระบบการเรียนรู้ที่ดีที่สุดแบบหนึ่งเลยทีเดียว และอาจจะเป็นแนวทางที่จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า การเรียนรู้แบบยั่งยืน หรือการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิตได้ เพราะเราสามารถมองทุกๆ เรื่อง ทุกๆ งานในชีวิต ให้เป็นโครงการย่อยๆ ได้ ระบบการเรียนรู้แบบนี้จะช่วยให้เราสามารถมองงานออกว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไร วางแผนอย่างไร หาข้อมูลจากที่ไหนอย่างไร สามารถขบปัญหาให้แตกได้ถ้าเกิดขึ้น การที่ได้มีสังคมของผู้ที่สนใจในเรื่องที่คล้ายกัน ได้พบปะพูดคุยถึงงานของตนเองและของผู้อื่น ก็จะยิ่งทำให้เราเข้าใจและมองเห็นงานของตนเองได้ชัดเจนขึ้น ไม่ย่อท้อต่อปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะจะได้กำลังใจจากกลุ่มผู้สนใจด้วยกัน และอาจจะได้แนวทางการแก้ปัญหาจากการพูดคุยกันก็ได้

                ข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือ การเรียนรู้ในแนวทางของ Constructionism นั้น จะไม่ยึดลำดับหัวข้อตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรอย่างตายตัว แต่จะเน้นให้ผู้เรียนเลือกเรื่องที่สนใจจะศึกษาด้วยตนเองอย่างค่อนข้างอิสระ ศาสตรจารย์กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ ได้เขียนเอาไว้ในคำนิยมของหนังสือเล่มนี้ว่า มนุษย์นั้นเป็นเจ้าของสิ่งพิเศษที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ได้แก่ ความคิด เหตุผล และจินตนาการ แนวทางการเรียนรู้แบบ Constructionism จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ใช้ศักยภาพพิเศษของสมองมนุษย์ทั้งสามด้านนั้นอย่างเต็มที่ ไม่ถูกตีกรอบโดยหลักสูตรหรือสิ่งที่ครูเป็นผู้ถ่ายทอดเพียงฝ่ายเดียว ประสิทธิภาพของการเรียนรู้จึงสูงขึ้น เพราะเป็นการเรียนรู้ที่เข้ากับลักษณะการทำงานตามธรรมชาติของสมองนั่นเอง

 

                รายงานได้ยกตัวอย่างการนำ Constructionism ไปใช้อย่างประสบความสำเร็จในประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา ประเทศต้นตำรับเอง ทั้งคอสตาริกา โคลอมเบีย หรือบราซิล ซึ่งคนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษานั้นมีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เผลอๆ อาจจะมากกว่าประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ รวมไปถึงประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างรัสเซียและออสเตรเลียก็ได้นำระบบ Constructionism นี้ไปใช้ด้วยเหมือนกัน

                ในประเทศไทยเองก็มีการนำระบบ Constructionism มาใช้เป็นเวลานานเกือบสิบปีแล้ว ทั้งในระบบการศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาในโรงเรียน ในวงการอุตสาหกรรม รวมทั้งชุมชนในต่างจังหวัด ซึ่งจากตัวอย่างที่ยกมาในรายงาน ก็จะเห็นได้ว่า แนวคิด Constructionism สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกวงการ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในวงการการศึกษาเท่านั้น

                ตัวอย่างหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เป็นกลุ่มนักเรียนที่อยู่ในสถานพินิจ ซึ่งมีปัญหาทั้งด้านความประพฤติและผลการเรียนในโรงเรียนที่แย่ แต่พอนำแนวคิดนี้เข้าไปใช้ นักเรียนเหล่านี้ก็กลับเรียนรู้ได้ดี มั่นใจในความสามารถของตนเอง มั่นใจว่าสามารถจะใช้ชีวิตในสังคมได้ ทำงานได้เหมือนคนอื่น สามารถเป็นที่ยอมรับของคนอื่นได้ ไม่คิดว่าตนเองเป็นตัวปัญหาของสังคมอีกต่อไป

                อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นแม่บ้านในชุมชนชนบทของไทยแห่งหนึ่ง ซึ่งทั้งชีวิตไม่เคยทำอะไรสำเร็จเลย เรียนก็น้อย สามีเป็นคนทำงานอยู่คนเดียว หนี้สินของครอบครัวก็มีมาก แต่พอมีการนำแนวคิดของ Constructionism เข้าไปใช้เพื่อช่วยพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ของชุมชน แม่บ้านท่านนี้ซึ่งว่างงานอยู่แล้ว ก็ได้มีโอกาสหัดใช้คอมพิวเตอร์เพื่อทำงานและค้นหาข้อมูล เรียนรู้เรื่องการทำบัญชี เรียนรู้เรื่องการค้าขาย ปรากฏว่า แม่บ้านท่านนี้กลับกลายเป็นผู้นำของชุมชนในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ในการปรับปรุงผลผลิตทางการเกษตรของชุมชนไปได้ รู้จักที่จะมองหาช่องทางเพิ่มรายได้ สามารถบริหารการใช้จ่ายได้ดีขึ้น หนี้สินก็ค่อยๆ ลดลง คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น ตัวแม่บ้านเองก็รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ามากขึ้น

                ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นประการหนึ่งว่า แนวทาง Contructionism นั้นสามารถใช้ได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกสังคม

 

                หลังจากที่อ่านรายงานฉบับนี้จบ สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการนำ Constructionism มาใช้ในระบบการศึกษาในโรงเรียนก็คือ

 

                รายงานได้กล่าวถึงหลายจังหวัดในภาคเหนือ โดยเฉพาะที่ลำปาง ซึ่งค่อนข้างจะประสบความสำเร็จในการนำแนวทาง Constructionism มาใช้ ศึกษานิเทศก์และสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดลำปางได้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี คอยหาช่องทางจัดสรรงบประมาณหรือทรัพยากรที่จำเป็น และช่วยทำให้ขั้นตอนการเดินเรื่องต่างๆ เป็นไปอย่างสะดวกขึ้น โรงเรียนประถมศึกษาบางโรงเรียนก็เปิดโอกาสให้ทดลองนำระบบการเรียนรู้ระบบนี้มาใช้ และสถาบันราชภัฏลำปางก็มีแนวคิดที่จะสร้างครูรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดตามระบบนี้ เพราะน่าจะง่ายกว่าการที่จะไปเปลี่ยนแนวความคิดของครูรุ่นเก่าๆ ส่วนเงินทุนบางส่วนก็ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิศึกษาพัฒน์ มูลนิธิไทยคม และบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่จะถือว่าเป็นหัวหอกในด้าน Constructionism ก็ว่าได้ และที่สำคัญ มีการจัดตั้ง Constructionism Lab ณ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ (ซึ่ง อ.สุชิน ผู้เขียนรายงานฉบับนี้เป็นผู้ดูแลอยู่) ขึ้นมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลยทีเดียว

 

                ผมเองอ่านเรื่องนี้แล้วก็ค่อนข้างตื่นเต้น อ่านไป ก็รู้สึกไปว่า การเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิตนั้นทำได้อย่างแน่นอน และทำได้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ และทุกสังคม หากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร การเรียนรู้ในแนวทางของ Constructionism นี้สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางได้อย่างวิเศษเลยทีเดียว ไม่แน่ว่า Constructionism อาจจะเป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งที่จะนำไปสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เราอยากจะให้เกิดขึ้นก็เป็นได้

 

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม (อ้างอิงจากหนังสือรายงานเล่มดังกล่าว บางลิงค์อาจจะใช้ไม่ได้แล้ว)

- Professor Seymour Papert ที่ MIT

http://www.media.mit.edu

http://www.papert.org

- โครงการ Lighthouse ของมูลนิธิศึกษาพัฒน์

http://www.thailearning.org

- Constructionism Lab ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ

http://www.nfen.in.th

- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

http://www.kmutt.ac.th

- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

http://www.cmu.ac.th

- ข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรม LEGO-Logo

http://www.logomindstorms.com

- ข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรม MicroWorlds Logo

http://www.lcsi.com