สมองซีกซ้ายและซีกขวา

2 ส.ค. 2548

โดย อ.ทสพล เขตเจนการ

ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล  คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

 

                ก่อนอื่นต้องขอบอกไว้ก่อนว่า ข้อเขียนนี้ไม่ใช่ข้อเขียนทางวิชาการ เพราะท่านคงไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงต่อที่ไหนได้ เนื่องจากผมเขียนขึ้นมาเองจากการที่ได้อ่านได้ฟังมาบ้างพอสมควร แต่ส่วนใหญ่ก็จะจำไม่ได้เสียแล้วว่าไปได้อ่านได้ฟังมาจากไหนบ้าง ศัพท์แสงทางชีววิทยาก็เรียกไม่ถูกเพราะไม่ได้เรียนมาทางนี้ เพราะฉะนั้น ก็ถือว่ามาเล่าสู่กันฟังอย่างกว้างๆ ก็แล้วกัน เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับใครได้บ้าง

                สมองของคนเราแบ่งเป็นซีกซ้ายและซีกขวา และมีหน้าที่การทำงานต่างกั

                สมองซีกซ้ายจะควบคุมการทำงานของอวัยวะด้านขวาของร่างกาย และทำงานในลักษณะของความเป็นเหตุเป็นผล เป็นลำดับขั้นตอน เป็นตรรกะ ดังนั้น บรรดาผู้ที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักคณิตศาสตร์ หรือนักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก็จะใช้สมองซีกนี้มากกว่าอีกซีกหนึ่ง ข้อดีของสมองซีกซ้ายคือ ทำให้ความคิดและการกระทำที่ต่อเนื่องต่อมามีความเป็นเหตุเป็นผล มีความเป็นตรรกะ ถูกต้องตามลำดับขั้นตอน สมควรแก่กาลเทศะ ส่วนข้อเสียคือ มักจะทำงานช้ากว่าซีกขวา เพราะต้องทำงานตามลำดับขั้นตอน ตามระเบียบกฎเกณฑ์ และมักจะจำกัดขอบเขตของความคิดให้อยู่ในกรอบความรู้หรือประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ หรือถ้าจะต่อยอดต่อไปก็จะต้องเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

                ส่วนสมองซีกขวาจะควบคุมการทำงานของอวัยวะด้านซ้ายของร่างกาย และทำงานในลักษณะของภาพรวม ความคิดรวบยอด จินตนาการ การใช้ความรู้สึกและอารมณ์ ดังนั้น บรรดาศิลปิน นักวาดภาพ ช่างปั้น นักร้อง นักแต่งเพลง นักเขียน ก็จะใช้สมองซีกนี้มากกว่า ข้อดีของสมองซีกขวาคือ ทำงานได้รวดเร็วกว่าซีกซ้าย มองเห็นภาพรวมและความคิดรวบยอดทั้งหมด มีจินตนาการ ไม่ค่อยมีขอบเขตปิดกั้นความคิดให้อยู่ในกรอบเดิมๆ ส่วนข้อเสียก็คือ ความคิดอาจไร้รูปแบบ ไร้เหตุผลมาสนับสนุนหรือเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ คนส่วนใหญ่ในสังคมอาจไม่เข้าใจหรือรับไม่ได้ หรือทำให้การกระทำที่แสดงออกมาเป็นการใช้อารมณ์หรือความรู้สึกอยู่เหนือเหตุผล

                หนังสือเล่มหนึ่งที่ผมเคยอ่าน คือ Brain Power: Learn to Improve Your Thinking Skills ของ Karl Albrecht ในหนังสือนั้นแนะนำให้นึกถึงการทำงานของสมองสองซีกเปรียบเทียบกับการเล่นกีต้าร์ เมื่อเริ่มหัดเล่นใหม่ๆ เป็นต้นว่า การหัดจับคอร์ด C เราก็จะต้องค่อยๆ คิดว่านิ้วแต่ละนิ้วจะต้องไปวางอยู่ที่ใดบนคอกีต้าร์ นิ้วนางซ้ายจะต้องไปวางไว้ที่ช่องที่สามของสายที่ห้า นิ้วกลางซ้ายก็จะต้องไปวางไว้ที่ช่องที่สองของสายที่สี่ นิ้วชี้ซ้ายก็จะต้องไปวางไว้ที่ช่องที่หนึ่งของสายที่สอง ส่วนมือขวาก็ดีดสายทั้งหกพร้อมกันก็จะได้เสียงของคอร์ด C ตามที่ต้องการ สิ่งที่จะสังเกตได้ชัดเจนก็คือ เราจะทำได้ช้ามากเพราะต้องนั่งคิดก่อนว่าจะวางนิ้วแต่ละนิ้วไว้ที่ตำแหน่งใดบ้าง ซึ่งในช่วงเริ่มหัดเล่นนี้สมองซีกซ้ายจะทำงานเป็นหลักก่อน ต่อมาเมื่อเราทำได้ชำนาญขึ้น สมองซีกขวาที่ทำงานในภาพรวมก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเราก็จะไม่ได้นึกถึงการวางนิ้วทีละนิ้วด้วยสมองซีกซ้ายอีกต่อไป เราจะนึกถึงภาพรวมทั้งหมดของนิ้วมือซ้ายด้วยสมองซีกขวาแล้วก็จับคอร์ด C ลงไปทันที การเรียนรู้การจับคอร์ดอื่นๆ ที่ตามมาก็จะเป็นไปในเชิงภาพรวมมากขึ้น ทำให้เรียนรู้ได้รวดเร็วขึ้น เปลี่ยนคอร์ดได้เร็วขึ้น และเล่นออกมาเป็นเพลงได้ในที่สุด ลองจินตนาการว่าหากเราใช้สมองซีกซ้ายในการเล่นดนตรี จะฟังออกมาเป็นเพลงหรือไม่ หรือกว่าจะเล่นจบเพลงจะต้องใช้เวลานานเท่าใด

                ตำรวจกับการจำรายละเอียดของคนร้ายก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ใช้ในการแสดงให้เห็นถึงการทำงานของสมองซีกซ้ายและซีกขวาได้ ตำรวจจะต้องฝึกการจำลักษณะและรายละเอียดของคนร้ายให้เหมือนกับเป็นภาพถ่ายก่อน จากนั้น จึงค่อยพิจารณารายละเอียดของคนร้ายจากภาพถ่ายในสมองว่าเป็นอย่างไร เช่น ผมยาวหรือผมสั้น ผมสีดำหรือสีน้ำตาล คิ้ว ตา จมูก ปาก คาง เป็นอย่างไร รูปร่างสูงต่ำดำขาวอย่างไร ผิวพรรณเป็นอย่างไร สวมใส่เสื้อผ้าลักษณะอย่างไร สีสันเป็นอย่างไร ฯลฯ การจำให้เหมือนกับเป็นภาพถ่ายนั้นเป็นการทำงานของสมองซีกขวาซึ่งทำได้รวดเร็วกว่า จากนั้น จึงค่อยให้สมองซีกซ้ายทำการพิจารณารายละเอียดเป็นส่วนๆ อีกทีหนึ่ง หากใช้สมองซีกซ้ายค่อยๆ จำรายละเอียดของคนร้ายทีละส่วนๆ เห็นทีจะไม่ทันการ เพราะคนร้ายคงไม่ยืนรอให้ตำรวจพิจารณาจนเสร็จเป็นแน่ การจำป้ายทะเบียนและรูปพรรณสัณฐานของรถยนต์ที่คนร้ายใช้ก็ต้องมีการฝึกฝนในลักษณะเดียวกันนี้ หากค่อยๆ อ่านตัวหนังสือและตัวเลขบนแผ่นป้ายทะเบียนทีละตัว ไม่จำเป็นภาพถ่าย ก็คงจะไม่ทันการเช่นกัน

                จะสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า คนเราไม่สามารถใช้สมองซีกใดซีกหนึ่งโดยลำพังได้ สมองทั้งสองซีกจะต้องทำงานอย่างสมดุลและสัมพันธ์กัน ไม่ใช่ว่าวิศวกรจะไม่ต้องใช้สมองซีกขวา หรือไม่ใช่ว่านักแต่งเพลงจะไม่ต้องใช้สมองซีกซ้าย

                ผู้ที่เป็นวิศวกรทุกคนจะต้องเรียนเขียนแบบเพื่อให้สามารถอ่านแบบเขียนแบบได้ ส่วนหนึ่งในการเรียนเขียนแบบก็คือ การเขียนภาพฉาย วัตถุที่เห็นในชีวิตประจำวันเป็นรูปทรงสามมิติ แต่การเขียนแบบให้เป็นรูปทรงสามมิตินั้น ไม่สามารถแสดงให้เห็นรายละเอียดในทุกด้านทุกมุมได้ จะต้องมีภาพฉายของด้านต่างๆ เข้ามาประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาพด้านหน้า ภาพด้านข้างทั้งซ้ายและขวา และภาพด้านบน หรือแม้กระทั่งภาพด้านล่าง การมองวัตถุให้เห็นทุกด้านทุกมุมเช่นนี้ไม่สามารถจะใช้หลักตรรกะหรือเหตุผลเพียงอย่างเดียวได้ ผู้มองจะต้องมีจินตนาการซึ่งทำงานด้วยสมองซีกขวาเข้ามาช่วยด้วย ถ้าวิศวกรสามารถนึกถึงภาพของวัตถุชิ้นนั้นในหัว แล้วจับพลิกไปพลิกมาให้เห็นด้านมุมต่างๆ ได้ การเขียนภาพฉายก็จะไม่ใช่สิ่งที่ยากเย็นแต่อย่างใด

                ผมได้อ่านหนังสือ คิดคำทำเพลง: ศิลปะการแต่งเนื้อเพลงไทย ซึ่งเขียนโดยคุณเขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ ผมซื้อหนังสือเล่มนี้มาไม่ใช่เพราะว่าอยากจะเป็นนักแต่งเพลง แต่เป็นเพราะผมอยากรู้ว่าคนที่แต่งเพลงขึ้นมาได้นั้นเขามีวิธีการอย่างไร ใช้แต่อารมณ์และความรู้สึกเท่านั้นหรือไม่ ปรากฏว่าในบทแรกของหนังสือนั้น ได้กล่าวถึงการทำงานของสมองทั้งสองซีก และยังได้บอกต่อไปอีกว่า เพลงที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องเกิดจากการทำงานที่สมดุลกันของสมองทั้งสองซีก หากสมองซีกขวาสร้างสรรค์เนื้อเพลงออกมาด้วยถ้อยคำที่สะเทือนอารมณ์ แต่ไม่ได้รับการขัดเกลาหรือเรียบเรียงเรื่องราวให้เป็นเหตุเป็นผลให้คนฟังเข้าใจได้ เพลงก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้เพราะผู้แต่งเข้าใจความหมายของเพลงอยู่เพียงผู้เดียว ตัวอย่างของการเขียนเพลงที่ต้องใช้สมองทั้งสองซีกให้สมดุลที่ชัดเจนอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ ซึ่งผู้แต่งจะต้องแต่งเนื้อเพลงให้เข้ากับเนื้อเรื่องของภาพยนตร์นั้นด้วย นั่นคือต้องใช้เหตุผลและเรื่องราวเป็นหลัก จะใช้อารมณ์ศิลปินส่วนตัวเป็นหลักไม่ได้

                หากได้ศึกษาประวัติของบุคคลสำคัญต่างๆ ของโลก จะสังเกตได้ว่าบุคคลเหล่านั้นมักจะเป็นผู้ที่ใช้สมองทั้งสองซีกทำงานร่วมกันได้อย่างสมดุล ลีโอนาโด ดาวินชี มีชื่อเสียงในทางเป็นศิลปินเอกของโลก เป็นทั้งจิตรกรและประติมากร แต่ในอีกด้านหนึ่ง เขาก็เป็นนักประดิษฐ์คิดค้นอีกด้วย อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้ที่พยายามไขความลับของจักรวาล เป็นผู้คิดค้นควอนตัมฟิสิกส์และทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ก็มีงานอดิเรกเป็นการเล่นไวโอลิน หรือตัวอย่างที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดก็ได้แก่ พระมหากษัตริย์ไทยเกือบทุกพระองค์ที่ทรงเป็นทั้งนักปกครองและนักบริหารซึ่งต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล ในขณะเดียวกัน ก็ทรงมีพระอัจฉริยภาพในทางศิลปะด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านดนตรีหรือทางด้านวรรณศิลป์

                ดังนั้น หากต้องการที่จะศึกษาเล่าเรียนหรือทำงานให้ประสบความสำเร็จแล้ว ก็จะต้องรู้จักการใช้สมองทั้งสองซีกให้สมดุลด้วย การเรียนวิทยาศาสตร์ก็จะต้องรู้จักใช้จินตนาการเข้ามาช่วยด้วย ไม่ใช่คิดตามตรรกะหรือทฤษฎีเพียงอย่างเดียว ไม่รู้จักที่จะจินตนาการถึงปรากฏการณ์จริงทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น การเป็นศิลปินก็จะต้องรู้จักใช้เหตุผลเข้ามาประกอบด้วย ไม่ใช่ใช้เพียงอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวเพียงอย่างเดียว จะแต่งตัวอย่างไรก็ตามใจฉัน ไม่สนใจว่าจะต้องไปเข้าสังคมที่ไหน คนอื่นก็จะมองดูว่าเป็นคนแปลกหรือคนเพี้ยนไปเสีย