อ่านหนังสืออย่างไรได้ผลดี

27 ก.ค. 2548

โดย อ.ทสพล เขตเจนการ

ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล  คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

 

                การอ่านหนังสือเตรียมสอบอาจทำได้หลายแบบ จะอ่านวันเดียวก่อนสอบ สองสามวันก่อนสอบ สัปดาห์หนึ่งก่อนสอบ หลายสัปดาห์ก่อนสอบ หรืออ่านทุกวัน แต่อ่านแบบไหนจึงจะทำให้เราสอบได้คะแนนดี อันนี้ต้องแล้วแต่ความถนัดเฉพาะตัวของแต่ละคน ก็คงจะต้องลองทำลองค้นหากันไปว่าแบบไหนจึงจะเหมาะสมกับเรา และเหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของแต่ละวิช

                ที่อยากจะเล่าให้ฟังต่อจากนี้ไปเป็นแนวทางกว้างๆ โดยผมจะจำกัดวงไว้ที่การอ่านหนังสือเรียนในสาขาวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์ และจะจำกัดวงให้แคบลงไปอีกว่าเป็นแบบฉบับส่วนตัวของผมเองที่ลองทำแล้วได้ผลดีมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จากการที่ได้คุยกับหลายๆ คนที่เรียนมาในสายเดียวกัน ก็พบว่า ทุกคนต่างลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า การอ่านหนังสือเรียนสำหรับผู้ที่เรียนในสายวิศวะก็ควรจะเป็นแบบที่ผมจะว่าต่อไปนี้ อาจจะยาวสักหน่อยก็เป็นเพราะผมอยากจะรวบรวมไว้ที่นี่ที่เดียวให้ครบถ้วน

ประการแรก อ่านหนังสือทุกวัน

                ฟังดูอาจจะคิดว่าเป็นภาระหนักอึ้ง แต่ลองค่อยๆ คิดตามผมดูว่าหนักจริงหรือไม่ ก่อนอื่นเราควรจะทำความเข้าใจถึงลักษณะการทำงานของสมองของคนเราสักเล็กน้อย สมองคนเรานั้นทำงานในลักษณะของการเชื่อมโยงข้อมูล จะรับข้อมูลใหม่เข้ามาได้ ก็ต่อเมื่อเรามีข้อมูลเก่าที่คล้ายคลึงกันหรืออยู่ในลักษณะที่สามารถจะไปเชื่อมโยงกับข้อมูลใหม่ที่จะเข้ามาได้ การอ่านหนังสือทุกวันเป็นการพยายามทำสิ่งที่สอดคล้องกับธรรมชาติการทำงานของสมอง กล่าวคือ การทบทวนบทเรียนที่เรียนมาในแต่ละวันนั้น เสมือนเป็นการเตรียมข้อมูลในสมองเราให้พร้อมที่จะรับความรู้ใหม่ที่จะเข้ามาในการเรียนครั้งต่อไป ยิ่งถ้าสามารถจะอ่านในส่วนที่จะเรียนในครั้งต่อไปล่วงหน้าได้ด้วย ก็ยิ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเราดียิ่งขึ้นไปอีก เราเองก็คงจะเคยสังเกตตัวเองว่า หากเราขาดเรียนวิชาใดวิชาหนึ่งไปสักครั้งสองครั้ง พอเราเข้าห้องเรียนใหม่ เราก็จะเรียนไม่รู้เรื่อง ทั้งนี้ ก็เนื่องจากเราไม่มีฐานข้อมูลเก่าที่พร้อมที่จะเชื่อมโยงกับข้อมูลใหม่นั่นเอง

                เวลาที่ต้องใช้ในการอ่านแต่ละวันควรจะเป็นสักกี่ชั่วโมงจึงจะเหมาะสม สมมติว่าในวันหนึ่งๆ อาจต้องเรียน 3 วิชา การอ่านทบทวนจะใช้เวลาประมาณ 15 ถึง 30 นาทีต่อวิชา คิดแล้วก็ไม่น่าจะใช้เวลาเกิน 45 นาทีถึงชั่วโมงครึ่ง ไม่ได้มากมายอะไรเลย บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมจึงใช้เวลาน้อยนัก อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า ธรรมชาติของวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์จะเป็นวิชาที่ต้องการทักษะ และการรู้จักประยุกต์ให้ภาคทฤษฎีกลายเป็นภาคปฏิบัติ ส่วนที่เป็นทฤษฎีจะมีไม่มาก ใช้เวลานิดเดียวก็อ่านจบแล้ว เวลาส่วนใหญ่จะใช้ไปกับการศึกษาและลองทำแบบฝึกหัด ดังนั้น ถ้าอ่านทฤษฎีพร้อมกับตัวอย่างอีกนิดหน่อย 15 ถึง 30 นาทีก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าใครจะจัดเวลาเพิ่มเพื่อลองทำแบบฝึกหัดด้วยก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก

                แล้วเวลาชั่วโมงครึ่งในแต่ละวันจะมากจากไหน ลองคิดดูว่าใน 1 วันมี 24 ชั่วโมง ใช้เพื่อการนอนหลับพักผ่อนประมาณ 8 ชั่วโมง เรียนในห้องเรียนประมาณ 6 ถึง 8 ชั่วโมง เหลืออีก 8 ชั่วโมงที่จะต้องใช้ไปกับการกินข้าว ทำธุระส่วนตัว เดินทาง ดูโทรทัศน์ เล่นกีฬา ฯลฯ ก็น่าจะจัดให้ลงภายใน 6 ชั่วโมงได้ เพราะฉะนั้น ก็จะเหลืออยู่อีก 2 ชั่วโมงสำหรับการอ่านหนังสือ มากกว่าชั่วโมงครึ่งที่ต้องการเสียอีก แถมยังมีอีกตั้งครึ่งชั่วโมงที่จะใช้อ่านเตรียมสำหรับวันถัดไปได้อีกด้วย

                การอ่านหนังสือล่วงหน้านั้น แน่นอนว่าอาจจะอ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าอ่านเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อนในชีวิตแล้วเข้าใจได้ทันที ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีโรงเรียน จริงไหม การอ่านล่วงหน้านั้นอ่านเพื่อให้เห็นภาพลางๆ ก่อนที่จะเข้าไปฟังการบรรยายของอาจารย์ในห้องเรียน จะทำให้เข้าใจได้เร็วขึ้น การเรียนก็จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

                บางคนอาจถามว่าเรียนทั้งวันทั้งคืนจะหนักไปไหม เครียดแย่เลย ก็คงต้องบอกอย่างไม่ปราณีว่า เป็นนักเรียน มีงานหลักเพียงอย่างเดียวก็คือเรียน อย่างอื่นเป็นเรื่องรองทั้งสิ้น อีกหน่อยเวลาเรียนจบไปแล้ว ทำงานแล้ว ภาระก็จะมากขึ้นอีกมากมาย ไหนจะงาน ไหนจะเพื่อน ไหนจะต้องเข้าสังคม ไหนยังจะต้องห่วงเรื่องครอบครัว แล้วยังจะต้องมีเรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องค่าเทอมลูกอีก มากมายจิปาถะ เพราะฉะนั้น ช่วงชีวิตที่เป็นนักเรียนนี้สบายที่สุดแล้ว ถ้าเรียนอย่างเดียวแค่นี้ยังทำให้ดีไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าต่อไปชีวิตจะประสบความสำเร็จอะไร

                การอ่านหนังสือเป็นประจำทุกวัน ควรเริ่มปฏิบัติตั้งแต่วันแรกของการเรียนเลยทีเดียว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็อย่างที่ว่าไว้แล้ว ถ้าฐานข้อมูลเก่าในสมองไม่อยู่ในสภาพที่พร้อม เราก็จะไม่สามารถรับข้อมูลใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประการที่สอง จัดเวลาให้วันธรรมดาเป็นวันเพื่อการเรียนเท่านั้น พักผ่อนเฉพาะวันเสาร์หรือวันอาทิตย์

                ให้คิดเสียว่าชีวิตการเรียนก็คล้ายกับชีวิตการทำงาน วันจันทร์ถึงวันศุกร์ต้องทำงาน จะหยุดพักผ่อน จะสังสรรค์ จะเที่ยวได้ ก็ต้องวันหยุดสุดสัปดาห์ คือ ช่วงเย็นวันศุกร์ หรือวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น และในบางครั้ง วันเสาร์-อาทิตย์ก็ยังอาจจะไม่ได้หยุด เพราะอาจจะมีงานกลุ่มที่จะต้องทำ มีรายงานที่จะต้องค้นคว้า หรืออาจจะต้องนัดรวมกลุ่มกับเพื่อนเพื่ออ่านหนังสือหรือทำแบบฝึกหัดด้วยกัน สิ่งที่แนะนำก็คือ อย่างน้อยควรจะจัดเวลาให้เหลือวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ วันใดวันหนึ่งไว้สำหรับการพักผ่อนเต็มวัน งานทั้งหมดจะต้องจัดให้ลงในวันทำงานให้ได้ ไม่ว่าจะต้องทำงานหนักแสนสาหัสหรือต้องนอนดึกดื่นเพียงใด ก็ต้องทำให้เสร็จเรียบร้อย เพื่อที่จะได้พักผ่อนได้อย่างเต็มที่ในวันพักผ่อนเต็มวัน

                ตัวอย่างเช่น คนที่อย่างไรเสียก็จะต้องกินเลี้ยงสังสรรค์ให้ได้ทุกสัปดาห์ ก็อาจจะจัดวันศุกร์เย็นไว้สำหรับสังสรรค์ วันเสาร์รุ่งขึ้นก็เป็นวันพักผ่อนเต็มวัน วันอาทิตย์ก็เก็บไว้สำหรับงานกลุ่ม อย่างนี้เป็นต้น

                ทีนี้ ในช่วงระหว่างวันของวันธรรมดา อาจมีบางช่วงเวลาที่ไม่มีเรียน แล้วเราจะใช้เวลาช่วงนั้นทำอะไร คำตอบมีมากมาย จะทำการบ้านก็ได้ จะอ่านหนังสือก็ได้ จะหัดทำแบบฝึกหัดก็ได้ จะไปค้นคว้าข้อมูลเพื่อทำรายงานก็ได้ สรุปใจความว่าจะทำอะไรก็ได้ แต่จะต้องระลึกเสมอว่าการเรียนก็เปรียบเสมือนกับการทำงาน เวลาเรียนคือเวลาทำงาน ห้ามเอาเวลางานไปนอน ไปเล่นเกมส์ ไปเดินซื้อของ ไปนั่งคุยไร้สาระกับเพื่อน การมีเวลาว่างระหว่างวันกลับจะดีเสียอีก เพราะจะทำให้เราไม่ต้องเผื่อเวลาชั่วโมงครึ่งสำหรับอ่านหนังสือในตอนเย็นหรือค่ำ จะได้มีเวลาดูโทรทัศน์ อ่านหนังสืออ่านเล่น หรือทำอย่างอื่นที่อยากจะทำได้บ้าง เราก็จะได้ไม่รู้สึกเครียดเกินไปด้วย

ประการที่สาม ทำแบบฝึกหัดมากๆ และทำด้วยกันเป็นกลุ่ม

                อย่างที่ว่าไว้ว่า วิชาสายวิศวะเป็นวิชาทักษะ ต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ แน่นอนว่าการเรียนหนังสือคงไม่ได้ประสบการณ์เหมือนกับการออกไปทำงานจริง ได้เจอกับปัญหาจริง หนทางที่จะทำให้เรามีประสบการณ์หรือมีความชำนาญก็คือผ่านทางแบบฝึกหัด ตำราที่ดีจะมีโจทย์หรือแบบฝึกหัดที่ดัดแปลงมาจากปัญหาจริงในงานวิศวกรรม ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจภาคทฤษฎีมากยิ่งขึ้น และเข้าใจว่าจะนำทฤษฎีเหล่านี้ไปเปลี่ยนให้เป็นภาคปฏิบัติได้อย่างไร ยิ่งได้ทำได้เห็นมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้เข้าใจได้มากขึ้นเท่านั้น

                ในหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมเคยอ่าน เป็นหนังสือเกี่ยวกับการเรียนที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ได้แนะนำแนวคิดที่อิงกับหลักทางพุทธศาสนาไว้ว่า การเรียนอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ปริยัติเทียบได้กับทฤษฎี ปฏิบัติก็มีความหมายตามที่เราเข้าใจกันอยู่แล้ว สองส่วนนี้จะต้องไปด้วยกัน ไปพร้อมๆ กัน เมื่อทราบทฤษฎีแล้วก็นำไปปฏิบัติ หากปฏิบัติไม่ถูกก็ย้อนกลับไปทบทวนทฤษฎีใหม่ แล้วก็กลับมาลองปฏิบัติอีกครั้ง ทำอย่างนี้สลับไปสลับมาก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าปฏิเวธ นั่นคือองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นอยู่ในตัวเรา คราวนี้ ไม่ว่าปัญหาจะซับซ้อนแค่ไหนหรือเป็นปัญหาที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เราก็จะสามารถพลิกแพลงแก้ไขได้เสมอ ข้อสอบก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ดังนั้น ขอให้ตระหนักว่าองค์ความรู้นี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราได้ฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำเล่าเท่านั้น

                แล้วการทำแบบฝึกหัดด้วยกันเป็นกลุ่มมีประโยชน์อย่างไร ทำให้ไม่เหงาเป็นประการแรก เพราะการเรียนรู้และเริ่มหัดทำสิ่งใหม่ๆ นั้นย่อมเป็นเรื่องลำบากเสมอ ถ้าเราต้องลำบากโดยลำพัง ความท้อแท้ก็จะบังเกิดขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีแต่ประการใด แต่หากเราได้เห็นว่าเราไม่ได้ลำบากคนเดียว ความท้อก็จะไม่เกิดขึ้น ประการถัดมาคือ เราจะได้เห็นวิธีการแก้ปัญหาเดียวกันหลายๆ รูปแบบ แบบฝึกหัดบางข้ออาจมีคนทำได้หลายคน แต่ทำได้เร็วช้าหรือยากง่ายต่างกัน เราก็จะได้เห็นวิธีการแก้ปัญหาหลายวิธี ทำให้เรามีอาวุธหลายอย่างในการทำข้อสอบ โอกาสที่จะได้คะแนนดีก็มีมากขึ้น ประการต่อมาอีกคือ คนที่ไม่รู้ก็จะได้รู้ คนที่รู้แล้วก็จะมีความเข้าใจมากขึ้นอีก แบบฝึกหัดบางข้อบางคนอาจจะทำไม่ได้ แต่บางคนอาจจะทำได้ คนที่ทำไม่ได้ก็จะได้ความรู้ไป คนที่สอนก็จะได้มีโอกาสเรียบเรียงความรู้ให้เป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น เพราะต้องถ่ายทอดออกมาให้คนอื่นเข้าใจให้ได้ ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

                อย่างไรก็ดี การอ่านหนังสือด้วยตัวเองคนเดียวก็ยังจำเป็นอยู่ ทิ้งไม่ได้ เพราะหากไปอ่านรวมกันเป็นกลุ่มแล้วไปรอเอาความรู้จากเพื่อนเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีอะไรติดไม้ติดมือไปด้วย ก็ดูจะเป็นการเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้เกินไป เพื่อนคงจะไม่อยากอ่านด้วยเป็นแน่เพราะกลัวจะโดนถ่วงไม่ให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น

                การทำแบบฝึกหัดด้วยกันเป็นกลุ่ม หากจะให้ได้ผลสูงสุด ก็ควรเริ่มปฏิบัติตั้งแต่เริ่มเรียนครั้งแรกเช่นเดียวกับการอ่านหนังสือทุกวัน อย่างช้าที่สุดก็ไม่ควรจะช้ากว่าสามถึงสี่สัปดาห์ก่อนสอบ เพราะถึงแม้ว่าตัวทฤษฎีเองอาจจะมีไม่มาก แต่การพลิกแพลงประยุกต์ใช้งานนั้นทำได้มากมายร้อยแปดรูปแบบ ยิ่งมีโอกาสได้เห็นมากเท่าไร องค์ความรู้ก็จะเกิดขึ้นมากเท่านั้น

ประการที่สี่ มองภาพรวมของเรื่องที่อ่านให้ออก

                ปัญหาหนึ่งในการอ่านหนังสือที่พบเห็นเป็นประจำก็คือ การหมกมุ่นอยู่ในรายละเอียดจนกระทั่งลืมไปว่าเรากำลังอ่านหรือกำลังศึกษาเรื่องอะไรอยู่ และอ่านไปเพื่อให้รู้อะไร บางครั้งรายละเอียดนั้นก็ยากจนทำให้เกิดอาการท้อและไม่อยากจะอ่านต่อไป จนกระทั่งทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าจะสอบไม่ได้ตามมา

                ตัวอย่างเช่น ในการศึกษาเรื่องรถยนต์ของวิศวกรเครื่องกลนั้น เมื่อมองในภาพรวมแล้ว จำเป็นจะต้องศึกษาระบบต่างๆ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นระบบเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง ระบบช่วงล่าง ระบบตัวถัง ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ ระบบนิรภัย ระบบอำนวยความสะดวก ฯลฯ ในการศึกษาส่วนของเครื่องยนต์ ก็จะต้องศึกษาเรื่องวัฏจักรการทำงานของเครื่องยนต์ ต้องศึกษาเกี่ยวกับวัสดุที่เหมาะสมที่สามารถทนแรงกระแทก การเสียดสี และอุณหภูมิสูงได้ ต้องศึกษาวิธีการหล่อเย็นเครื่องยนต์ และอื่นๆ ในส่วนของวัฏจักรการทำงานของเครื่องยนต์ ก็จะต้องศึกษากระบวนการทางเคมีที่เกิดขึ้นระหว่างเชื้อเพลิงและอากาศ ในส่วนนี้อาจจะต้องศึกษาลึกลงไปในรายละเอียดพอสมควร และก็อาจจะพบว่าเนื้อหานั้นยากมาก เพราะต้องเรียนรู้สูตรทางเคมีของเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ต้องเขียนสมการและทำสมดุลเคมีเป็น ต้องทำแบบฝึกหัดเคมีซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อให้เข้าใจให้ได้ จนกระทั่งเราอาจจะถามตัวเองว่าเรากำลังเรียนวิทยาศาสตร์เคมีหรือเรียนวิศวกรรมเครื่องกลอยู่กันแน่ เมื่อตกอยู่ในสภาพที่จมอยู่กับรายละเอียดเช่นนี้ เราก็ต้องถอยตัวเองออกมามองภาพรวมว่า ที่เราต้องศึกษากระบวนการทางเคมีนั้น ก็เพื่อจะได้ทราบว่าสัดส่วนการผสมเชื้อเพลิงและอากาศเท่าใดจึงจะทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์ที่สุด ให้กำลังกับเครื่องยนต์สูงที่สุด ประหยัดเชื้อเพลิงมากที่สุด และสร้างมลพิษน้อยที่สุด เพราะในที่สุดแล้ว เรากำลังศึกษาเรื่องเครื่องยนต์ของรถยนต์ ไม่ใช่เรียนวิทยาศาสตร์เคมี หลังจากที่ถอยออกมาตั้งหลักด้วยการมองภาพรวมทั้งหมดแล้ว จึงค่อยกลับเข้าไปศึกษาในรายละเอียดนั้นต่อไปอย่างรู้จุดหมายและไม่เกิดอาการท้อแท้

ประการที่ห้า อ่านหนังสือหลายๆ ประเภท โดยเฉพาะที่ไม่ใช่หนังสือเรียน

                ประโยชน์อย่างแรกที่จะได้จากการอ่านหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือเรียนก็คือ การลดความเครียด อ่านหนังสือประเภทใดก็ได้ที่เราชอบ ไม่ว่าจะเป็นนิยาย เรื่องสั้น สารคดี ปกิณกะ หนังสือพิมพ์ วารสารหรือนิตยสารต่างๆ การได้อ่านหนังสือที่ชอบจะทำให้ไม่รู้สึกเครียดจนเกินไป รวมทั้งไม่ต้องซ้ำซากจำเจอยู่กับตำรับตำราทุกวันทุกคืนด้วย บางคนอาจจะบอกว่าชอบอ่านหนังสือเรียน อ่านได้มากมายและไม่รู้สึกเครียดแต่อย่างใด ก็นับว่าเป็นบุญของท่าน แต่ผมก็ยังจะแนะนำให้อ่านหนังสือประเภทอื่นด้วยอยู่ดี เพราะเป็นผลดีต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของสมอง หนังสือประเภทเดียวที่ควรจะหลีกเลี่ยงก็คือ หนังสือการ์ตูน อ่านได้บ้างแต่ต้องไม่มาก เพราะไม่มีประโยชน์อื่นใดต่อสมองของเราเลยนอกจากความเพลิดเพลินเพียงอย่างเดียว

                การอ่านหนังสือหลายประเภทจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของสมองได้อย่างไร ก็อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า สมองคนเราทำงานในลักษณะของการเชื่อมโยงข้อมูล จะรับข้อมูลใหม่เข้ามาได้ ก็ต่อเมื่อเรามีฐานข้อมูลเก่าที่พร้อมที่จะเชื่อมโยงกับข้อมูลใหม่ การอ่านหนังสือที่หลากหลายจะช่วยให้ฐานข้อมูลในสมองเรากว้างขวางขึ้น นั่นก็หมายความว่าเราจะสามารถรับรู้สิ่งใหม่ๆ ได้หลากหลายและรวดเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน ลองสังเกตคนที่เป็นนักอ่าน คนเหล่านั้นมักจะเป็นผู้ที่เรียนรู้และเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้รวดเร็วกว่าคนอื่น รวมทั้งมีมุมมองในเรื่องนั้นๆ กว้างขวางและหลากหลายกว่าคนอื่น

ประการที่หก กล้าถาม ถ้าไม่รู้

                เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนไทยซึ่งมักจะกล้าแสดงออกในสิ่งที่ไม่สมควรกล้า และจะไม่กล้าแสดงออกในสิ่งที่สมควรกล้า สุภาษิตที่ว่า ด้านได้ อายอด นอกจากจะใช้ได้ดีในเรื่องของการทำมาหากินแล้ว ยังใช้ได้ดีกับการเรียนอีกด้วย เมื่ออ่านหนังสือคนเดียวแล้วไม่เข้าใจ ก็ไปถามเพื่อนตอนที่อ่านหนังสือหรือทำแบบฝึกหัดร่วมกันเป็นกลุ่ม แต่ถ้าได้คุยกับเพื่อนหลายๆ คนแล้วก็ยังไม่กระจ่าง ไม่แจ่มแจ้งอยู่ดี ก็จะต้องไม่กลัวที่จะพากันไปหาอาจารย์ผู้สอนให้ช่วยอธิบายให้

ประการที่เจ็ด ตั้งใจจริง พยายาม อดทน และมีวินัย

                ไม่ต้องอธิบายกันมากสำหรับประการนี้ เพราะความหมายตรงตัวอยู่แล้ว ถ้าหากขาดประการที่เจ็ดนี้ไป ทุกประการที่กล่าวมาทั้งหมดก็จะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง

                ขอให้นึกภาพเวลาที่เราเข็นของหนัก เมื่อเริ่มเข็นจากสภาพหยุดนิ่ง เราก็จะรู้สึกหนักและต้องใช้แรงมาก แต่ถ้าเราตั้งใจจริง อดทนออกแรงเข็นต่อไป พอของเริ่มขยับ ความหนักก็จะค่อยๆ ลดลง หลังจากนี้ เราก็จะออกแรงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการรักษาสภาพให้ของเคลื่อนที่ต่อไปเรื่อยๆ การอ่านหนังสือและทำแบบฝึกหัดเป็นประจำก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน เมื่อเริ่มทำแรกๆ ก็ต้องใช้ความพยายามมากสักหน่อย รู้สึกว่าลำบาก เป็นภาระ แต่เมื่อเริ่มเคลื่อนที่ไปแล้ว เราก็จะไม่รู้สึกลำบากอีกต่อไป คงเหลือแต่วินัยที่เราจะต้องมีอยู่ตลอด เพื่อคุมให้เราคอยออกแรงเข็นเพียงเล็กน้อยนั้นตลอดเวลา ไม่ให้หยุดนิ่ง เพราะถ้าหากหยุดนิ่ง นอกจากจะไปไม่ถึงจุดหมายแล้ว การออกแรงเข็นใหม่อีกครั้งก็จะก่อให้เกิดความลำบากครั้งใหม่ และถ้าเป็นแบบนี้อีกครั้งแล้วครั้งเล่าก็พาลจะท้อแท้ไปเสียก่อนได้

                ตามที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่าผมจะจำกัดวงเฉพาะการอ่านหนังสือเพื่อเรียนในสายวิศวะเท่านั้น แต่กระนั้น ผมก็ยังคิดว่าแนวทางนี้สามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนในทุกๆ สายได้เป็นอย่างดี ผมหวังว่าข้อเขียนนี้คงจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย